ฮีทสโตรก ภัยร้ายที่มากับอากาศร้อน

ช่วงนี้อากาศบ้านเราร้อนและร้อนมากขึ้นทุกวัน นอกจากจะทำให้เรารู้สึกเพลีย หมดแรงง่าย แถมมีเหงื่อออกเหนอะหนะไม่สบายตัว ไม่แฮปปี้แล้ว เจ้าอากาศที่ร้อนจัดก็อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพได้อีกมากมายเลยนะ ไม่ว่าจะเสี่ยงภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือเสี่ยงเป็นโรคที่ช่วงนี้บ้านเรากำลังตื่นตัวและให้ความสนใจเป็นอย่างมากอย่างโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) โรคที่มากับอากาศร้อนและอาจมีความอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตเราได้เลย…

ฮีทสโตรกคืออะไร?

ฮีทสโตรกเป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายที่มักมาพร้อมกับอากาศร้อนจัด โดยอาจมีสาเหตุมาจากการที่เราอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนนานเกินไปทำให้ร่างกายของเรามีอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ (เกิน 40-41 องศาเซลเซียส) มาพร้อมกับความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทันที สังเกตได้จากการที่ผู้ป่วยจะไม่มีเหงื่อออกแม้ว่าร่างกายจะมีอุณหภูมิสูง โดยผู้ที่เป็นฮีทสโตรกประเภทนี้จะเรียกว่า Classical Heat Stroke เป็นสาเหตุที่เกิดจากความร้อนสูงในสิ่งแวดล้อม

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งจะมาจากการออกกำลังที่หนักเกินไป ร่วมกับอากาศที่ร้อนจัด อาการจะใกล้เคียงกับแบบ Classic แต่จะต่างกันตรงที่ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออกมากในช่วงแรกและเหงื่อจะหยุดออกในเวลาต่อมา จะเรียกฮีทสโตรกประเภทนี้ว่า Exertional Heat Stroke

ซึ่งการเป็นฮีทสโตรกนั้นจะมีผลต่อระบบอวัยวะภายในร่างกายของเรา เช่น ระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต และการทำงานของอวัยสำคัญอื่น ๆ เช่น ไต ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ไม่ทันท่วงที ก็อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

ฮีทสโตรกมีอาการอย่างไร?

อาการของฮีทสโตรกอาจมีความผิดปกติตั้งแต่ขั้นเล็กน้อย อย่างตัวร้อน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาให้ทันท่วงที ก็อาจทำให้มีอาการผิดปกติรุนแรงขึ้นไปจนถึงขั้นหมดสติได้ โดยอาการผิดปกติของผู้ที่ป่วยเป็นฮีทสโตรกนั้นมีดังนี้…

  1. ตัวร้อนจัดและมีไข้สูงเกิน 40 – 41 องศาเซลเซียส
  2. รู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน
  3. มีอาการปวดศีรษะ หน้ามืด หรืออาจมีอาการตอบสนองช้าลง ชัก ไปจนถึงขั้นหมดสติได้เมื่อหนักขึ้น
  4. หายใจถี่ ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว และมีความดันโลหิตต่ำ
  5. รู้สึกกระหายน้ำมาก
  6. ไม่มีเหงื่อออก แม้จะอยู่ในอากาศร้อนจัด และผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดงมากขึ้น
  7. ปัสสาวะออกน้อยหรือมีสีเข้มขึ้น

หากมีอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที!

วิธีปฏิบัติเบื้องต้นหากเจอผู้ป่วยฮีทสโตรก

หากเจอผู้ป่วยที่มีอาการฮีทสโตรก สามารถแบ่งผู้ป่วยออกได้เป็น 2 กรณี

1. ผู้ป่วยที่ยังมีความรู้สึกตัวปกติอยู่

  • ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม นอนราบ คลายเสื้อผ้าออกให้หายใจได้สะดวก
  • ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เยอะ ๆ
  • ระบายความร้อน ลดอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยให้ลงต่ำโดยเร็วที่สุด อาจทำด้วยการประคบน้ำแข็ง เอาน้ำราดตัว หรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัว รวมถึงสามารถใช้พัดลมเป่าและพ่นละอองน้ำช่วยได้เช่นกัน
  • เมื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

2. ผู้ป่วยที่หมดสติ

หากผู้ป่วยมีอาการหมดสติ หรือมีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป ให้ตรวจคลำชีพจรดูว่าการหายใจของผู้ป่วยมีความผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีการหายใจที่ผิดปกติหรือไม่หายใจ จะต้องรีบทำ CPR ตรงบริเวณนั้นและรีบโทรแจ้ง 1669 หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

.

.

.

แล้วสำหรับพวกเราทุกคนในหน้าร้อนนี้ ดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ อย่าลืมป้องกันไม่ให้ร่างกายตัวเองขาดน้ำ ดื่มน้ำเยอะ ๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ปิด ที่ระบายอากาศได้ไม่ดี รวมถึงพื้นที่กลางแจ้ง อากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ๆ ด้วยน้าา 🥺🫶🏻✨