“มลพิษทางอากาศ” ภัยร้ายที่อยู่ใกล้ตัว

มลพิษทางอากาศ pm2.5 air pollution Thailand

ช่วงนี้เช็กสภาพอากาศทีไรก็แต่เจอแต่อากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นขมุกขมัวอยู่บ่อย ๆ เลย ยิ่งได้ลองเช็กดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ในหลายพื้นที่ก็เจอค่าฝุ่น PM 2.5 สูงแทบทุกที บางพื้นที่ค่าฝุ่นสูงมากจนขึ้นสีแดงเลยนะ ทำเอาเราที่สูดอากาศเหล่านี้เข้าไปก็เริ่มมีผลกระทบกับสุขภาพกันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการไอ หรือจะหายใจลำบากขึ้น ซึ่งเจ้าฝุ่นที่มีเยอะขึ้นทุกวันก็ทำให้ผู้คนตื่นตัวเรื่องอันตรายจากมลพิษทางอากาศมากขึ้นเยอะเลยล่ะ

วันนี้เราเลยจะพาทุกคนมารู้จักกับเจ้า “มลพิษทางอากาศ” กัน ว่าจริง ๆ แล้วมันคืออะไร เกิดมาจากสาเหตุอะไร และเราจะมีแนวทางในการหลีกเลี่ยงหรือดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง ไปดูกัน !

มลพิษทางอากาศคืออะไร

มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) คือ ภาวะที่อากาศมีการเจือปนของสิ่งสกปรก หรือสารพิษอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าค่ามาตรฐาน หรือเจือปนเป็นระยะเวลานานพอจนส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายกับเรา รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อมได้

ซึ่งเจ้าฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรากำลังเจอกันอยู่นั้นก็เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่เราต้องให้ความสำคัญและต้องระวังเลยนะ เพราะมันถูกพิจารณาว่ามีผลกระทบกับสุขภาพมากที่สุดในบรรดามลพิษทางอากาศโดยทั่วไปเลย ยิ่งฝุ่นมีขนาดเล็กลงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเข้าสู่ร่างกายเราได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น ไม่ดีต่อสุขภาพของเราแบบสุด ๆ เลยล่ะ

สาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

สาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศมีอะไรบ้าง เราขอแบ่งออกมาเป็น 3 สาเหตุใหญ่ ๆ ตามแหล่งกำเนิดของมลพิษดังนี้

  1. มลพิษทางอากาศที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ การเกิดไฟป่าที่ทำให้เกิดควันและเขม่าฟุ้งกระจายไปในอากาศ หรือรวมถึงฝุ่นละอองจากลมพายุ และแก๊ซที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติมักเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้น้อย เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีแหล่งกำเนิดอยู่ไกลจากมนุษย์ ทำให้ปริมาณมลพิษทางอากาศที่เข้าสู่สภาพแวดล้อมของมนุษย์และสัตว์นั้นอาจถูกเจือจางและมีน้อยลง
  2. มลพิษทางอากาศที่เกิดเกิดจากฝีมือของมนุษย์ เช่น ไอเสียจากยานยนต์ ควันและแก๊ซที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นจากระดับครัวเรือนหรือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสำหรับในประเทศไทยจะแบ่งแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
    • แหล่งกำเนิดจากยานพาหนะ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นที่มักจะมีปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงกว่าพื้นที่ที่มีการจราจรคล่องตัว
    • แหล่งกำเนิดจากโรงงานอุตสาหกรรม มักเกิดจากกระบวนการผลิตและการเผาไหม้เชื้อเพลิง และเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมนั้นมีขนาดใหญ่กว่าครัวเรือนเป็นอย่างมาก เลยทำให้มลพิษที่เกิดจากแหล่งนี้อาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศและทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่อยู่ในแถบใกล้เคียงได้
  3. มลพิษทางอากาศที่เกิดจากแหล่งกำเนิดอื่น ๆ  เป็นมลพิษที่อาจเกิดจากปฏิกิริยาเคมีจากแหล่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการฝีมือของมนุษย์ หรือธรรมชาติโดยตรง เช่น การเกิดก๊าซพิษ (Smog)

มลพิษทางอากาศมีผลกระทบกับเราอย่างไร

แน่นอนว่ามลพิษทางอากาศนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราอย่างแน่นอน สำหรับบางคนที่ภูมิคุ้มกันต่ำเมื่อได้สัมผัสกับมลพิษทางอากาศเข้าไปก็อาจมีอาการได้ทันที เช่น การไอ จาม มีการระคายเคืองตา รวมถึงผิวหนัง หรือบางคนก็อาจรู้สึกหายใจได้ลำบาก วิงเวียนและปวดศีรษะได้ ชาวภูมิแพ้ต้องไม่ถูกใจสิ่งนี้อย่างแน่นอน

นอกจากอาการเหล่านี้แล้วมลพิษทางอากาศยังส่งผลกับสุขภาพของเราในระยะยาวได้อีกนะ ยิ่งสำหรับใครที่ได้สัมผัสและรับปริมาณมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน อาจกำลังเสี่ยงกับโรคเหล่านี้ได้

เสี่ยงต่อโรคทางหัวใจ

มลพิษทางอากาศที่รุนแรงหรือการสะสมมาเป็นเวลานานอาจมีผลทำให้เราเสี่ยงอาการหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะได้นะ ยิ่งกับมลพิษทางอากาศที่เป็นฝุ่นละอองเล็ก ๆ บางครั้งก็อาจเล็กมากจนสามารถเข้าไปในร่างกายและกระแสเลือดของเราได้ง่าย ๆ ทำให้เรายิ่งเสี่ยงกับการสะสมตะกอนภายในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดมีการแข็งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายและหลอดเลือดสมองตีบได้อีก

เสี่ยงต่อโรคทางปอดและทางเดินหายใจ

การที่เราหายใจสูดมลพิษทางอากาศเข้าไปในร่างกาย แน่นอนว่าไม่เป็นผลดีกับปอดและทางเดินหายใจของเราอย่างแน่นอน ใครที่เป็นโรคเกี่ยวระบบทางเดินหายใจอยู่ก็อาจถูกกระตุ้นให้กำเริบได้ง่าย ๆ แถมยังเสี่ยงทำให้เราเป็นโรคหลอดลมอักเสบ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอดด้วยนะ

เสี่ยงต่อโรคทางสมอง

จากที่บอกไปข้างต้นว่ามลพิษทางอากาศสามารถทำให้หลอดเลือดเกิดการแข็งตัวได้จากการสะสมของตะกอนจากมลพิษที่เราหายใจเข้าไป ซึ่งเมื่อตะกอนนี้เกิดกับเส้นเลือดในสมอง ก็อาจทำให้เรามีความดันที่สูงขึ้น เสี่ยงเกิดลิ่มเลือดในสมองและเป็นโรคหลอดเลือดในสมองได้ด้วยค่ะ

วิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ

ในปัจจุบันเราสามารถตรวจเช็กสภาพอากาศและเช็กค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ในพื้นที่ของตัวเองได้ผ่านแอปพลิเคชันแบบง่าย ๆ แล้ว หากพบว่ามีระดับมลพิษทางอากาศที่สูงขึ้น สามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งและย้ายเข้าไปอยู่ในอาคารแทน ไม่เผชิญกับมลพิษทางอากาศโดยตรงเป็นเวลานาน
  • หากต้องเดินทางออกข้างนอก อาจเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วนหรือพื้นที่ที่มีความแออัด
  • เมื่ออยู่ในอาคารให้ปิดหน้าต่างและใช้เครื่องปรับอากาศให้อากาศภายในหมุนเวียนแทน ไม่ดึงอากาศที่เป็นมลพิษจากข้างนอกเข้ามา
  • ใช้เครื่องกรองอากาศปรับอากาศภายในอาคารมีคุณภาพ แนะนำให้เป็นเครี่องกรองที่สามารถกรองอนุภาคฝุ่นละอองได้อย่างละเอียด และควรเลือกขนาดให้เหมาะสมกับพื้นที่
  • สวมหน้ากากป้องกัน อย่าลืมเลือกชนิดหน้ากากให้เหมาะสมด้วยนะ ต้องเลือกชนิดที่สามารถกรองฝุ่นได้อย่างมีคุณภาพ เช่น หน้ากาก N95 และหน้ากาก N99

.

.

ขอบคุณข้อมูลจาก:
กรมส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อม, scimath, bumrungrad