AOM-givememuseums-feature

.

“ศิลปะสามารถอยู่ตรงไหนและเมื่อไหร่ก็ได้ “
– give.me.museums –

.

logo

เดินทางมาถึงเดือนสุดท้ายของปีแล้ว เราขอส่งท้ายด้วยศิลปินผู้ซึ่งได้รับความนิยม
และมีผลงานโดดเด่น มาแรงสุด ๆ ในปีนี้ อย่าง ‘give.me.museums’ !

เชื่อว่าใครหลายคนอาจรู้จัก หรือเห็นผลงานภาพวาดทุ่งดอกไม้สีสันสดสวยของเธอกันมาบ้างแล้ว
ทั้งจากงานนิทรรศการของเธอเอง หรือแม้กระทั่งสินค้าต่าง ๆ ที่เธอได้ไป collaboration ด้วยมากมาย

วันนี้ในมุม Artist of the Month ของเราจะขอพาทุกคนมารู้จักศิลปินคนโปรดของคุณให้มากขึ้น
ถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานศิลปะ รวมถึงมุมมอง ความคิดในการทำงานของเธอว่าเป็นอย่างไร
ติดตามกันในบทสัมภาษณ์ของเราได้เลย 🪴🎨🪑

“ศิลปะ” ทำให้เป็นตัวเอง และควรเข้าถึงได้ทุกคน

เริ่มทำงานศิลปะตั้งแต่ตอนไหน 

เริ่มทำงานศิลปะจริง ๆ ตั้งแต่อนุบาล เริ่มวาดด้วยภาพเบสิกอย่างภูเขา ก้อนเมฆ พระอาทิตย์ เหมือนกับเด็กทั่ว ๆ ไปเลย โดขึ้นมาหน่อยก็เริ่มวาดคาแรกเตอร์ และ landscape สลับ ๆ กัน วาดรูปอย่างต่อเนื่องมาตลอดจนเกือบจะเลิกทำในช่วงมหาลัยเพราะเริ่มลองศึกษาด้านอื่น ๆ มากขึ้น เช่น การถ่ายรูป กราฟิกดีไซน์ หรือการทำโฆษณา กลับมาทำงานศิลปะอีกทีก็ทำแบรนด์ give.me.museums หลังจากเรียนจบเลย ปลายปี 2022 นี้แบรนด์จะครบรอบ 3 ปีแล้วค่ะ

คิดว่าศิลปะมีอิทธิพลอะไรกับคุณบ้างหรือเปล่า

ศิลปะมีอิทธิพลกับเรามาก ๆ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่กับเรามาทั้งชีวิตเลย ทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้ การทำงานศิลปะทำให้เราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น เป็นตัวเองได้เต็มที่ เป็นพื้นที่สบายใจที่คอยรองรับทุกความรู้สึกของเรา

เริ่มต้นทำแบรนด์ได้อย่างไร

จบมาเริ่มแรกก็ทำงานประจำ เป็นครีเอทีฟอยู่เอเจนซี่โฆษณา สนุกดี แต่ตัวงานค่อนข้างหนัก และต้องคิดเยอะ เครียด จึงหาอะไรผ่อนคลายทำด้วยการกลับมาวาดรูปหลังจากไม่ได้วาดมานาน พอวาดไปวาดมาเริ่มอยากใช้สิ่งของที่วาดเอง แล้วทีนี้มันทำน้อยไม่ได้ เลยเอาที่เหลือ (จริง ๆ ก็เหลือแค่สิบกว่าแผ่น 555) หาร้านฝากขาย แล้วหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ สร้างแบรนด์มาเรื่อย ๆ ค่ะ

ชื่อแบรนด์มาจากอะไร

จริง ๆ แล้วปรับมาจากคำพูดของปิกัสโซ่ว่า give me a museum and i will fill it. ให้มัน catchy ขี้น และนำมาตีความใหม่ในรูปแบบของเราเอง โดยนิยามคำว่ามิวเซียม (พิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะ/หอศิลป์) ในที่นี้หมายถึงสัญลักษณ์ของพื้นที่แสดงออกทางศิลปะ โดยแบรนด์มีความเชื่อว่า ศิลปะสามารถอยู่ตรงไหนและเมื่อไหร่ก็ได้ ชื่อนี้จึงทำหน้าที่เรียกร้องพื้นที่ของศิลปะ ว่าศิลปะควรจะอยู่ในชีวิตประจำวัน เข้าถึงได้ทุกคน ทุกที่ ไม่ใช่จบแค่เป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูง จนคนเอื้อมถึงมีแค่กลุ่มคนจำนวนน้อย หรือถูกจำกัดแค่ที่แคนวาส กระดาษ หรือหอศิลป์

ถ้าแบรนด์เรา คือ มิวเซียมหรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ให้คนมาเยี่ยมชมงานหรือแวะเวียนมาพักผ่อนหลบหนีจากความวุ่นวาย สินค้าของเราจึงทำหน้าที่เหมือนสินค้าจากร้านขายของฝากเล็กๆ ในมิวเซียม ที่เมื่อชมงานศิลปะเสร็จแล้ว อยากจะเป็นเจ้าของงานศิลปะสักชิ้นสองชิ้นติดมือไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

มองว่าอะไรคือจุดเด่น หรือสิ่งที่คิดว่าเป็นที่จดจำของแบรนด์ 

คิดว่าคอนเทนต์กับการใช้สีของเราค่อนข้างชัดเจน media ยืดหยุ่น ไม่มีขอบเขตและคาดเดาไม่ได้ ทั้งงาน collaboration หรือที่เลือกทำเอง 

แล้วภาพที่เราวาดส่วนใหญ่มักจะจบลงที่การขายภาพโดยตรง เช่น ขายแคนวาส โปสเตอร์ โปสการ์ด แต่เรานำภาพมาประยุกต์ใช้ลงบนของใช้ในชีวิตประจำวัน ภาพและมีเดียที่เลือกใช้เลยทำให้งานไฟนอลมีความคอนทราสกัน และมันคงลงตัวมั้ง ให้อารมณ์แบบงานศิลปะเบลนด์ไปกับชีวิตประจำวัน เช่นการที่งานเราสามารถอยู่ได้ในรูปแบบนิทรรศการ, เฟอร์นิเจอร์, ดิสเพลย์ร้าน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, สินค้าแฟชั่น, หน้าปกอัลบั้ม ไปจนถึงตู้กดน้ำอัตโนมัติ

AOM-givememuseums-color

(พาเลตสีที่บอกความเป็นแบรนด์)

ใช้ชีวิตสะสมประสบการณ์ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน

เวลาสร้างผลงาน หยิบไอเดียการวาดมาจากไหน

จากสภาพแวดล้อม สิ่งที่เจอ ผู้คน น่าจะเป็นหลาย ๆ อย่างรวมกัน เหมือนใช้ชีวิตสะสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน ภาพส่วนใหญ่ที่วาดจะเป็นภาพที่มาจากความรู้สึกรวม ๆ อาจจะนึกถึงสถานที่ บรรยากาศ ความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้น ณ ตอนนั้น หลายครั้งที่วาดก็ไม่ได้คิดก่อนว่ารูปจะออกมาแบบไหน มีกำหนดโครงไว้คร่าว ๆ เฉย ๆ แล้วเติมไปเรื่อย ๆ เป็นภาพจำในหัวลาง ๆ ไม่ได้เปิดภาพหรือเรฟอะไรเทียบ ภาพที่ออกมาเลยไม่ค่อยสมจริง

ทำไมถึงเลือกทำงานด้วยสไตล์นี้ (อิมเพรสชันนิสม์)

ยุคอิมเพรสชันนิสม์เป็นยุคที่ศิลปินเริ่มขยายกรอบความงามและเนื้อหาของศิลปะออกไป ไม่ใช่แค่การวาดภาพเหมือน หรือต้องพูดถึงประเด็นใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่สามารถเล่าเรื่องราวที่ง่าย ๆ ได้เช่นกัน ไม่ต้องเก็บรายละเอียดจนเหมือนจริง เน้นมองบรรยากาศ ความรู้สึกภาพรวมมากกว่า ภาพยุคนี้ส่วนใหญ่เลยเป็นสถานที่ landscape หรือผู้คนทั่วไป เลยค่อนข้างรีเลตกับเราที่ชอบเดินทาง ชอบเที่ยว ชอบสังเกต จำ และวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เจอในชีวิตประจำวัน รวมถึงแนวคิดเรื่องศิลปะไม่ได้มีไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น 

จริง ๆ เราไม่ได้ตั้งใจว่าผลงานของเราจะต้องทำตามแบบลัทธินี้หรือศิลปินคนไหน แต่ด้วยบุคลิค แนวคิด สภาพแวดล้อมและความชอบต่าง ๆ ส่งผลให้งานเราเป็นแบบนี้

มีต้นแบบหรือศิลปินในดวงใจไหม?

Claude Monet, Vincent Van Gogh, Henri Matisse, Pablo Picasso นอกจากสไตล์ของผลงานแล้ว เหตุผลหลักที่ชอบคือแนวคิดและที่มาของศิลปินแต่ละคน อย่าง Claude Monet นับเป็นคนจุดเริ่มต้นของศิลปะสมัยใหม่ เป็นศิลปินคนแรก ๆ ที่ทลายกำแพงว่าศิลปะจะต้องเป็นของชนชั้นสูง หรือ Pablo Picasso ที่มาของประโยคที่เป็นชื่อแบรนด์เรา ก็สร้างศิลปะรูปแบบใหม่ เหมือนเป็นต้นกำเนิดของ Graphic Design ถ้าเปรียบให้เข้าใจง่าย ๆ คือเหมือน Steve Jobs ที่สร้าง iPhone ขึ้นมา

เมื่อโลกปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัล ต้องปรับตัวหรือมีความท้าทายอย่างไรบ้างในการทำงาน

ความท้าทายคือการที่เราต้องเรียนรู้ และปรับตัวตลอดเวลาโดยที่ยังรักษาความเป็นตัวเองเอาไว้ มีสติและทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น ทุกอย่างมาไวไปไวมาก อาจจะต้องรู้ว่าสำหรับเราแล้วควรโฟกัสอะไรเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องตามทั้งหมด แต่ต้องรู้ว่าอะไรสำคัญไม่ตามไม่ได้ ทั้งหมดนี้จะกินพลังงานกายและใจมาก การปรับตัวที่สำคัญที่สุดคือการ balance เรื่องพวกนี้กับการมีเวลาให้ตัวเองได้พักบ้าง ถ้ากายพังใจพังจะปรับตัวยากสุด แล้วทุกอย่างจะรวนหมดเลย

.

“รักษาความสมดุลระหว่าง passion, goal และการใจดีกับตัวเอง”

.

คิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานศิลปะ

การลุกขึ้นมาทำ เอาชนะความขี้เกียจว่ายากแล้ว การทำให้ต่อเนื่องและพัฒนาคือยากกว่า การทำแล้ว balance ระหว่าง passion, goal และการใจดีกับตัวเองคือยากที่สุด

“สัญญะแห่งความสำเร็จ” ของคุณคืออะไร และคิดว่าตอนนี้ตัวเองถึงจุดนั้นแล้วหรือยัง?

ความสำเร็จของเรามีหลายด้านมาก ๆ แยกเป็นส่วน ๆ ต่างกัน ถ้าเป็นส่วนของการทำงานศิลปะ การที่เราสามารถทำงานศิลปะเป็นอาชีพหลักโดยไม่รู้สึกเสียดายว่าน่าจะปล่อยให้เป็นงานอดิเรกต่อไปก็น่าจะถือว่าสำเร็จกับการทำงานด้านนี้แล้วค่ะ

คิดอย่างไรกับคำว่า “ศิลปะสะท้อนสังคม”

คิดว่าศิลปะสะท้อนตัวตนของผู้สร้าง ส่วนตัวตนของผู้สร้างก็สะท้อนสังคมอยู่แล้วค่ะ ผู้สร้างงานศิลปะอยู่ในสังคมแบบไหน สภาพแวดล้อมแบบไหน งานก็ออกมาแบบนั้น 

แล้วคิดว่างานของตัวเองสะท้อนอะไรออกมาบ้าง

งานเราตอนที่คนเริ่มจำได้คือ landscape แบบที่ไม่มีสถานที่นั้น ๆ อยู่จริง เริ่มวาดตอนออกจากงานประจำ เราอาจจะรู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นเลยวาดแบบนั้นออกมา หลังจากนั้นก็เป็นช่วงโควิด จากที่เป็นคนชอบเดินทาง ชอบท่องเที่ยว กลับไม่ได้ไปไหน เลยสะท้อนความต้องการอิสระที่จะออกเดินทาง การอยากพักผ่อนผ่านภาพวาด 

หลายคนบอกว่าเห็นภาพของเราแล้วสบายใจ อาจจะเป็นเพราะไม่ว่าเราจะเครียด หรือเศร้าหรืออะไรก็ตาม ตอนที่เราได้วาดรูปมันเหมือนได้อยู่ในคอมฟอร์ตโซน สบายใจ ไม่กดดัน อารมณ์ตอนวาดเหล่านั้นคงจะส่งผ่านฝีแปรงของเราไป

แล้วมองอนาคตของงานศิลปะในประเทศไทยเป็นอย่างไร

ศิลปะเหมือนเป็นเครื่องมือวัดความเหลื่อมล้ำในไทยเลย ใครเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้มากกว่าก็ได้เปรียบทั้งในแง่ของการเสพย์งานและผลิตงาน โดยพื้นฐานคิดว่าคนทำงานศิลปะ ในประเทศไทยค่อนข้างเก่ง หากในอนาคตเราจัดการกับระบบโครงสร้างเหล่านี้ได้  คนรักศิลปะที่ไม่มีโอกาสแต่มีความสามารถคงจะเกิดขึ้นมาเต็มไปหมด แถมคนที่ไม่ได้สร้างงานศิลปะก็คงมีกำลังพอจะซัพพอร์ต ถึงวันนั้นศิลปะในไทยน่าจะสนุก มีชีวิตชีวา และไปได้ไกลกว่าตอนนี้มาก ๆ เลยค่ะ 

มีผลงานไหนที่รู้สึกประทับใจมากที่สุด หรือภูมิใจสุดไหม

Blooming home exhibition เมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา เป็น solo exhibition ครั้งแรกของเราเลย เหนื่อยมาก เวลาเตรียมตัวน้อยมาก แต่ผลตอบรับดีกว่าที่คิดมากเลย

มีแนวงานแบบไหนที่อยากลองทำในอนาคตบ้างไหม?

อยากลองทำงานเซรามิกส์ และอยากศึกษาทางด้านศิลปะบำบัดเพิ่มเติมค่ะ

ฝากผลงานและช่องการติดตาม 

Instagram: give.me.museums
Facebook: give.me.museums
Twitter: @givemuseums
www.givememuseums.com
www.khontarat.myportfolio.com 

  • GIVE ME MUSEUMS | GOODNOTES SPECIAL PACK (vol.1)

    240.00 ฿ Add to cart

    Total sold: 1717

    Store:  GIVE ME MUSEUMS
    0 out of 5